
คุณลักษณะของพลเมืองตื่นตัว
คุณลักษณะของพลเมืองตื่นตัว คือ ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเองได้รับเนื่องจากทุกกคนเมื่อเกิดมาได้รับสิทธิจากรัฐ ต้องมีความรับผิดชอบในการตอบแทนให้แก่รัฐในฐานะสมาชิกของรัฐเมื่อเกิดมาก็มีสัญชาติ และมีสิทธิได้รับประโยชน์ต่าง ๆ จากภาครัฐ เช่นได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมาย สิทธิตามกฎหมายต่าง ๆ ในฐานะพลเมือง ต้องมีความรับผิดชอบต่อโลกสิ่งแวดล้อมในฐานะมนุษย์ที่ได้รับประโยชน์โดยธรรมชาติ เช่น ปัญหาเรื่องโลกร้อน การใช้พลังงานต่าง ๆ เท่าที่จำเป็น อาสาสมัครร่วมรณรงค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ มีจิตสาธารณะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจมีความรับผิดชอบต่อสังคม มีบทบาทในชุมชน มีจิตอาสา (กระทำสิ่งต่าง ๆ โดยไม่หวังผลตอบแทนแก่ตนเอง) และจิตสาธารณะ (มีจิตที่เห็นแก่ประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก) ศรัทธาในการรีไซเคิลทรัพยากรเพื่อถนอมสิ่งแวดล้อม รักสันติภาพ ร่วมบริจาคทรัพยากรเพราะตระหนักดีว่าเป็นความรับผิดชอบของตน (วรากรณ์ สามโกเศศ, 2015) มีความตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน เป็นผู้ที่มีความเข้าใจเรื่องการมีส่วนร่วมตามหลักประชาธิปไตย มีความตระหนักรู้ในสิ่งที่ตนทำเห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ (กันทรากร จรัสมาธุสร, 2560:11) มูลนิธิสยามกัมมาจล (2563) ได้กล่าวถึงลักษณะของพลเมืองตื่นตัวว่าเป็นคนปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดีปฏิบัติตนตามสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองที่ดีตามกฎหมาย อาทิ ไปเลือกตั้ง เสียภาษี เกณฑ์ทหาร ฯลฯ ประกอบสัมมาชีพ ดำรงตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีงาม มีจิตอาสา เอื้อเฟ้อแบ่งปัน ใช้ศักยภาพของตัวเองที่มีอยู่ช่วยเหลือหรือสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นและสังคมอย่างสม่ำเสมอ ไม่นิ่งดูดายต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคมส่วนรวม มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ยึดถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นคุณค่าหลักในการดำเนินชีวิต ให้ความสำคัญต่อการเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างหรือผดุงความเป็นธรรม ความเสมอภาค ความผาสุกร่วมกันของคนในสังคมทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งสรุปได้ว่า ดูแลตนเองได้ สามารถรับผิดชอบตนเองได้ ไม่เป็นภาระผู้อื่น เคารพกติกา อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสงบสุข รู้สิทธิ์รู้หน้าที่ เคารพความแตกต่างหลากหลาย เคารพสิทธิ์ผู้อื่น ให้ความสำคัญกับความเสมอภาค ไม่ดูดายเรื่องส่วนรวมความรับผิดชอบต่อส่วนรวม
พลเมืองของชุมชน รัฐ หรือพลเมืองของโลก ต้องมีการตระหนักถึงการพึ่งพาซึ่งกันและกัน และความกังวลร่วมกันด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ให้ความสนใจกับประเด็นทางการเมืองที่เกี่ยวกับการตัดสินใจทางนโยบายโดยตรงหรือโดยอ้อม มีทัศนคติของความอดกลั้นในตนเองของพลเมือง ให้น้ำหนักกับสิ่งที่เป็ผลประโยชน์ร่วมกันมากกว่าส่วนบุคคล เปิดกว้างสู่การมีส่วนร่วมอย่างตั้งใจโดยการตัดสินใจของตนเอง พร้อมที่จะอธิบายสถานะของตนเอง ฟังมุมมองของคนอื่น และทบทวนความคิดเห็นของตน (Ahern, 2006). ต้องการให้เด็กได้เรียนรู้ มีความรู้สึก คิดและกระทำด้วยความเคารพต่อตนเองและผู้อื่น เด็กต้องคำนึงถึงความเป็นอยู่ของตัวเองในขณะเดียวกันก็คำนึงถึงความต้องการและความรู้สึกของผู้อื่นด้วย ต้องรับรู้และให้เกียรติผู้อื่นตามหลักการประชาธิปไตย (Hanson, 2019). มีบทบาทในการสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ดีขึ้นและพัฒนาทักษะและทัศนคติของการเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้น พลเมืองที่กระตือรือร้นไม่เพียงแต่รู้ถึงสิทธิและความรับผิดชอบของพวกเขาเท่านั้น แต่พวกเขายังแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้อื่นและพร้อมที่จะตอบแทนสังคม (Practice, 2016). คุณลักษณะของพลเมืองตื่นตัวที่ควรมีในระดับเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งคุณคิม จงสถิตย์วัฒนา (2560) ได้สรุปไว้ค่อนข้างแตกต่างจากนักวิชาการท่านอื่นมี 7 ประการดังนี้
-
มีจิตสำนึกพลเมืองดี รู้จักหน้าที่ มีจริยธรรม เคารพความแตกต่างระหว่างบุคคล
-
รู้จักคิดวิเคราะห์ คิดเป็น ทำเป็นแก้ปัญหาได้
-
สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ แสดงทัศนคติได้อย่างสร้างสรรค์
-
ใส่ใจสิ่งแวดล้อม รักธรรมชาติ แผ่นดิน อยู่กับธรรมชาติอย่างสุนทรีย์
-
มีภาวะผู้นำ มุ่งมั่น รับผิดชอบ กล้าตัดสินใจ มีอุดมการณ์
-
มีทักษะประกอบอาชีพ
-
สร้างสรรค์ต่อยอด คิดนอกกรอบ

แหล่งที่มา: (คิม จงสถิต วัฒนา, 2560)
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (2557) ได้กำหนดคุณลักษณะของการเป็นพลเมืองตื่นตัว (Active Citizen) 8 ระดับได้แก่
-
เคารพกติกาสังคม ปฏิบัติตนตามที่กฎหมายกำหนด
-
ทำหน้าที่ทางสังคม รู้หน้าที่ การใช้สิทธิทธิเลือกตั้ง เสียภาษี เข้ารับการเกณฑ์ทหาร
-
ติดตามข่าวสารบ้านเมือง สนใจกับปัญหาสังคม สามารถวิเคราะห์ ประเมินตนเองในการช่วยเหลือต่อเหตุการณ์ต่างๆ
-
เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน การมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชน ช่วยเหลืองานพัฒนางานในชุมชน
-
กล้าแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย สามารถแสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานหลักการประชาธิปไตย ในการรับฟัง ซึ่งกันและกัน
-
ไม่เพิกเฉยต่อความอยุติธรรมต่าง ๆ ในสังคม แสดงออกในสิ่งที่ไม่เห็นด้วยต่อความอยุติธรรมต่อผู้ด้อยโอกาส ผู้ที่เสียเปรียบ
-
อาสาสมัครเข้าร่วมในสถานการณ์ หลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขั้นไม่ได้ต้องการแค่เงินช่วยเหลือ แต่ต้องการอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือในเหตุการณ์เหล่านั้น
-
มีความเป็นผู้นำ กล้าคิด กล้าตัดสินใจ มีความรับผิดชอบ มีธรรมมาภิบาล พร้อมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
คุณลักษณะของพลเมืองตื่นตัวที่กล่าวมานี้หากวิเคราะห์ด้วยหลักการของ Joel Westheimer Joseph Kahne (2004) ที่ศึกษาเรื่องการให้การศึกษาแก่พลเมืองที่ดี: ตัวเลือกทางการเมือง และเป้าหมายทางวิชาการการศึกษา จะเข้าลักษณะ 3 รูปแบบ คือ 1. พลเมืองที่มีความรับผิดชอบดีเป็นการส่วนตัว (The personally responsible citizen) รัฐให้ทำอะไรก็ทำตามนั้น มีกฎกติกาอะไรก็ทำตาม พร้อมแบ่งปันสิ่งของได้ เช่น บริจาคเมื่อน้ำท่วม บริจาคเลือด หรือใครต้องการความช่วยเหลือก็จะดูว่าตนช่วยอะไรได้บ้าง เป็นขั้นแรกของความเป็นพลเมืองที่ดี 2. พลเมืองที่มีส่วนร่วม (The participatory citizen) เป็นพลเมืองที่กระตือรือร้นที่จะเข้ามามีส่วนร่วม เช่น เป็นอาสาสมัครเมื่อมีภัยพิบัติหรือเมื่อสังคมต้องการ เข้าไปมีส่วนร่วมกับกลุ่มองค์กรและกลไกทางสังคมที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดการรับผิดชอบร่วมกันในสังคม 3. พลเมืองที่มุ่งเน้นสังคมที่เป็นธรรม (The justice-oriented citizen) เป็นพลเมืองที่ตื่นตัว มีส่วนร่วมแล้วตั้งคำถามกับสังคมตัวเองด้วย เป็นพลเมืองที่เห็นภาพรวมทางสังคมแล้วพยายามผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่กลไกเชิงโครงสร้างให้ได้ เช่น ผลักดันให้เกิดกติการ่วมกัน กลไกที่ช่วยให้รัฐทำงานได้ดีขึ้นเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อให้คนที่เคยเสียเปรียบได้เข้าถึงโอกาสหรือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาได้
อย่างไรก็ตามรูปแบบที่ 3 นี้จะเกิดขึ้นยากในระบอบอำนาจนิยม เพราะผู้มีอำนาจไม่ต้องการคนตั้งคำถาม เพราะอาจไปแตะโครงสร้างอำนาจหรือเปลี่ยนแปลงกลไกภาครัฐ ถ้าจะให้รูปแบบที่ 3 นี้เกิดขึ้นได้สังคมต้องเชื่อในพลังของคนทุกคน ทุกคนมีศักดิ์ศรีมีอำนาจในการต่อรองกับรัฐได้ หากสังคมมีพลเมืองที่มุ่งเน้นความเป็นธรรมมากขึ้นโครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรมก็จะถูกตั้งคำถามและเกิดการเปลี่ยนแปลงให้มีความเป็นธรรมในที่สุด