top of page

การส่งเสริมการใช้หนังสือในระดับปฐมวัย

         หนังสือทุกเล่มทั้งที่ได้รับการจัดพิมพ์ขึ้นมาหรือเป็นหนังสือที่จัดทำด้วยกระบวนการทำมือ ไม่ว่าจะวางอยู่ในห้องสมุด ในชั้นเรียนหรือแม้กระทั่งที่บ้าน มิอาจกล่าวได้ว่าบรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดทำหนังสือแล้ว ด้วยเหตุที่ว่าเป้าหมายหลักของการผลิตหนังสือคือการใช้หนังสือเล่มหรือการอ่านนั่นเอง ดังนั้นการส่งเสริมการใช้หนังสือในระดับปฐมวัยจึงเป็นอีกหน้าที่หนึ่งของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้พึงกระทำ ผู้เกี่ยวข้องกับการใช้หนังสือในระดับปฐมวัยต้องคิดหากระบวนการว่าจะทำอย่างไรให้มีการใช้หนังสือมากขึ้น และคุ้มค่ากับการผลิตขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูปฐมวัยยังต้องคิดถึงวิธีการปลูกฝังเรื่องการดูแลและรักษา หนังสือในระดับเด็กปฐมวัยอีกด้วย

การส่งเสริมการอ่านหนังสือนิทานในระดับปฐมวัย

          การส่งเสริมการอ่านหนังสือนิทานในระดับปฐมวัยมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย และ เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาทุกระดับต้องร่วมกันแก้ไข เนื่องจากระดับการอ่านหนังสือของคนไทยทั้งประเทศอยูในระดับที่น้อยมาก ทั้งนี้อาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากการไม่มีนิสัยรักการอ่านตั้งแต่วัยเด็ก และขาดการส่งเสริมการอ่านอย่างจริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งปัญหาการติดเกมของเด็กในวัยเรียน ซึ่งเป็นปัญหาให้ญ่ระดับชาติ เป็นปัญหาที่มากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สามารถดึงดูดความสนใจของเด็กได้มากกว่าการอ่านหนังสือ แต่ส่งผลทางลบต่อสุขภาพและการเรียนของเด็ก  คณะรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. ได้เล็งเห็นปัญหานี้ จึงมีมติเห็นชอบแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ. 2560-2564 โดยกำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนวัฒนธรรมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ของประเทศไทย มี 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ปลูกสร้างพฤติกรรมรักการอ่านที่เข็มแข็งให้กับคนทุกช่วงวัย อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสื่อการอ่านของประชาชนทั้งในชุมชนเมืองและภูมิภาค ยกระดับคุณภาพแหล่งเรียนรู้และสื่อการอ่านเพื่อการเรียนรู้ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมการอ่าน โดยเฉพาะเด็กเล็กเป็นวัยที่มีความสำคัญอยางยิ่ง หนังสือที่เหมาะสมกับช่วงวัยจะเป็นรากฐานในการส่งเสริมการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของประเทศอย่างมีคุณภาพ จากมติ ครม. ที่มุ่งส่งเสริมให้มีการใช้หนังสืออย่างเร่งด่วน แต่ความเป็นจริงในชนบทเด็กปฐมวัยไม่สามารถเข้าถึงหนังสือสื่อการอ่าน เนื่องจากการขาดแคลนหนังสือเพราะหนังสือเด็กจะมีราคาแพงเกินกว่าที่ผู้ปกครองและศูนย์พัฒนาเด็กจะซื้อได้อย่างเพียงพอ  จากข้อมูลในพื้นที่วิจัย อบต. หนองพลวง อำเภอจักราช ในจังหวัดนครราชสีมา พบว่ามีเพียงร้อยละ 3 ที่มีหนังสือสำหรับเด็กปฐมวัยที่บ้านและเป็นหนังสือที่ใช้เขียนพยัญชนะตามร้อยปะไม่ใช่หนังสือนิทานสำหรับอ่าน และในศูนย์เด็กเล็กก็ไม่มีหนังสือเพื่อส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัย เด็กจึงไม่คุ้นเคยกับการอ่านและไม่มีนิสัยรักการอ่านอย่างที่รัฐบาลต้องการให้เป็น    

          นิสัยรักการอ่านเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับการปลูกฝังตั้งแต่เด็กยังเล็กอยู่ ยิ่งเด็กได้คุ้นเคยกับหนังสือตั้งแต่อายุยังน้อยยิ่งมีผลดีต่อตัวเด็กเองเป็นอ่ยางมาก  เพราะจะทำให้เด็กได้พัฒนาทั้งนิสัยรักการอ่านและมีเวลาที่จะเรียนรู้ถึงแนวหนังสือที่ตนชอบมากขึ้น การส่งเสริมการใช้หนังสือในระดับปฐมวัยจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนานิสัยรักการอ่าน และดึงดูดความสนใจของเด็กออกจากสื่ออยางอื่นที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งจุดมุงหมายที่สำคัญที่สุดสำหรับการสอนเด็กให้อ่านหนังสือ คือ การช่วยเพิ่มขีดความสามารถของเขาทั้งปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งต้องทำให้เด็กเข้าใจได้ว่าการอ่านเป็นทั้งการให้ความสนุกสนานและให้ข้อมูลที่สำคัญซึ่งความเกี่ยวของกับชีวิตทั้งปัจจุบันและอนาคตของพวกเขา ด้านการบำบัดการพูดของศูนย์ให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับภาษาและการพูดแก่เด็กปฐมวัยในประเทศแคนนาดา (The Hanen Centre) แนะนำว่า หนังสือเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ภาษาที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งการเรียนรู้ภาษาของเด็กปฐมวัยนั้นต้องมีหกเงื่อนไขในสภาพแวดลอมที่จะส่งเสริมการเรียนภาษาคือ   

          1) เด็กต้องได้ยินคำศัพท์เยอะ ๆ ต้องอ่านให้ฟังบอย ๆ เพื่อเพิ่มคำศัพท์ใหม่   

          2) เด็กจะเรียนรู้คำศัพท์เมื่อมีความสนใจ หนังสือกระตุ้นความสนใจของเด็กเนื่องจากมีภาพประกอบที่มีสีสันและประเด็นที่น่าสนใจสำหรับเด็กเล็ก   

          3) เด็กเรียนรู้ได้ดีที่สุดเมื่อผู้ใหญ่ตอบสนองต่อพวกเขา   

          4) เด็กจะเรียนรู้คำศัพท์เมื่อความหมายชัดเจน เพียงนำเสนอคำศัพท์ใหม่ ๆ ไม่เพียงพอ เด็กต้องการรู้ว่าคำนั้นหมายถึงอะไร ผู้ปกครองสามารถใช้ภาพประกอบเพื่ออธิบายความหมายของคำใหม่ได้   

          5) เรียนรู้คำศัพท์และไวยากรณ์พร้อมกัน เด็กจำเป็นต้องได้ยินคำศัพท์ใหม่ ๆ ในประโยคที่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์เพื่อที่จะเรียนรู้ภาษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

          6) ต้องทำให้เป็นเชิงบวกเสมอ เด็กจำเป็นต้องได้รับการพูดคุยในเชิงบวกเพื่อสนับสนุนการพัฒนาของพวกเขา 

          สิ่งที่ต้องทำเมื่ออ่านหนังสือให้เด็กปฐมวัยฟังคือการกระตุ้นให้เด็กเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ เมื่อเด็กเข้าใจเนื้อเรื่องได้ดีจะช่วยให้อ่านและเขียนด้วยตนเองได้ง่ายขึ้น คำศัพท์และรูปภาพในหนังสือสามารถช่วยให้เด็กเข้าใจเนื้อเรื่องได้ดี เนื่องจากเด็กต้องการรู้ว่าเขาเขียนอะไรไว้ในหนังสือ หรือภาพนั้นแสดงอะไร เด็กต้องใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์ด้วยความรู้และประสบการณ์ หรือทักษะการแก้ปัญหาที่เขามีอยู่จึงจะเข้าใจความหมายของเรื่องได้อย่างแท้จริง ซึ่งผู้ใหญ่สามารถช่วยเด็กให้พัฒนาทักษะเหล่านี้ได้ด้วยการเพิ่มการพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กสนใจในขณะที่อ่านและใช้เวลาหลังอ่านเสร็จสักครู่เพื่อสนทนา

© 2023 by Little Rainbow. Proudly created with Wix.com

  • White Instagram Icon
  • White Yelp Icon
  • White Pinterest Icon
  • White Facebook Icon
bottom of page